วงการ Retail (ค้าปลีก) ไทย โดยเฉพาะช่องทาง Modern Trade (ค้าปลีกสมัยใหม่) ถือว่าได้รับการยอมรับจากประเทศชั้นนำหลายประเทศว่าพัฒนามาได้ถูกทาง เหตุที่ผมพูดแบบนี้เพราะว่า ตอนที่ผมทำงานอยู่ในบริษัทอุปโภคบริโภคข้ามชาติหลายแห่ง ผมรู้สึกภูมิใจกึ่งแปลกใจที่คนจากหลายชาติ ขอเข้ามาศึกษางานด้าน Modern Trade ในประเทศไทยแทนที่จะไปสิงค์โปร์หรือมาเลเซีย เหตุเพราะอัตราการเจริญเติบโตที่สูงต่อเนื่อง และระบบการทำงานที่ถูกพัฒนาจนอยู่ในแถวหน้า และเมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็มีข่าวที่ทำให้วงการ Retail ไทย ต้องกระหึ่มขึ้นมาอีกครับเมื่อ บิ๊กซีประกาศแจ้งการขายหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้กับ ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี
ดีลมูลค่า 1.2 แสนล้านบาทนี้ ยังความสงสัยให้แก่ทุกคนในวงการ ไม่ว่าจะเป็นบรรดาคู่แข่ง ซัพพลายเออร์ หรือตัวผู้บริโภค ว่าใครจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
ส่วนตัวผมขอแสดงทัศนะ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในวงการค้าปลีก(สิบกว่าปี) และติดตามข่าวกลุ่ม TCC มาอย่างต่อเนื่อง โดยขอแบ่งมุมมองออกเป็น 2 มุมด้วยกัน ได้แก่
1. มุมมอง TCC หรือพูดง่ายๆ ถ้าสมมติคุณเป็นคุณเจริญ เหตุใดจึงสนใจดีลนี้
2. มุมของวงการ Retail ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มต่างๆ
1. มุมมอง TCC – ส่วนใหญ่เราจะรู้จักแต่ เบียร์ช้าง ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องปั๊มเงินสดให้กับธุรกิจของคุณเจริญ แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ อีก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร (ที่มา : http://www.tccholding.com/index.php?controller=business) แต่ลำพังเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มอย่างเดียว ก็สามารถทำรายได้ถึง 162,040 ล้านบาท (สิ้นปี 2557)
1.1. รายได้หลักมาจากธุรกิจ Alcohol (สุรา เบียร์) แต่เป็นธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน (แต่ทำเงินดีมากนะจะบอกให้) – ขออนุญาตเจาะแค่ธุรกิจเดียวจาก ThaiBev นำมาจาก Annual Report ปี 2557 (ที่มา : http://thaibev.listedcompany.com/ar.html) ปี 2557 ThaiBev มีรายได้ 162,040 ล้านบาท กำไรสุทธิ 19,308 ล้านบาท แต่หากวิเคราะห์ลงลึก จะเห็นว่ารายได้หลักเป็นรายได้จากสินค้าประเภท Alcohol 139,785 ล้านบาท (สุรา 104,592 ล้านบาท เบียร์ 35,193 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 86.3% จากรายได้ทั้งหมด
Alcohol ถือเป็นธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน คำว่าธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน นั้นหมายถึง เป็นธุรกิจที่ภาครัฐ หรือภาคประชาคมไม่ให้การส่งเสริม ทำให้ยากแก่การขยายธุรกิจ หรือแม้แต่นำไป Synergy กับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ
1.2. เมื่อคุณเป็นเจ้าของธุรกิจที่สร้างเงินสดได้มากขนาดนี้ บวกกับการต้องการหาทางออกอื่นเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่ยั่งยืน(ถึงแม้รายได้อาจจะไม่มากเท่า) ทางเลือกจึงมีไม่มาก ทางเลือกหนึ่งในนั้น คือ การนำเงินไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง การลงทุนที่สามารถสร้างผลประโยชน์ได้มากกว่าการถือครองเงินสด เท่าที่ผมจำได้ หลายปีมานี้ TCC ให้ทรัพยากรที่มีปั้นธุรกิจขึ้นใหม่ก็ไม่น้อย และกว้านซื้อธุรกิจจำนวนมากที่มีศักยภาพจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ทั้งที่ TCC เองมีความชำนาญ และไม่มีความชำนาญเลย
1.3. กลยุทธ์กระจายความเสี่ยง (Diversification Strategy) บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ยักษ์ส่วนมากใช้กลยุทธ์นี้ด้วยการแตกไลน์ธุรกิจ ไปยังธุรกิจที่ยังไม่เคยทำ หรือตลาดใหม่ กลุ่ม TCC เองได้แตกแขนง ธุรกิจออกไปหลายแขนง ทั้งเกี่ยวเนื่องกัน และไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจแรกเริ่ม (Alcohol) และวิธีที่เร็วที่สุดคือการกว้านซื้อ ปลายปี 2012 TCC ได้ซื้อ F&N เพื่อต่อยอดธุรกิจ Non-Alcohol ไปด้วยมูลค่าเกือบ 2 แสนล้าน (ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Fraser_and_Neave) ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังมาก เพราะปาดหน้าเค้ก Heineken ไปอย่างดุเดือด
การได้มาซึ่งธุรกิจนั้นทำได้ 2 วิธี คือ ซื้อหรือสร้าง และแน่นอนว่า การซื้อ(ธุรกิจ) นั้น ย่อมแพงกว่าการสร้าง(ธรุกิจ) แต่ผลดีที่เห็นชัดคือ การประหยัดเวลาหรือร่นเวลา(ได้หลายสิบปี) และการการันตีว่าธุรกิจนั้นมีศักยภาพ
แต่ในทางกลับกัน การซื้อธุรกิจเองนั้น นอกจากจะต้องอาศัยความระมัดระวังแล้ว ยังต้องสามารถดึงเอาศักยภาพของธุรกิจนั้นมาใช้ให้ได้อย่างเต็มที่ มิเช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นการ “ซื้อซามูไรมาหั่นผัก” คือ ซื้อของแพงมา แต่ใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เฉกเช่น การซื้อ Oishi แทนที่จะเก็บเกี่ยวได้อย่างเต็มที่ แต่ก็เกิดอุบัติเหตุให้ไม่สามารถได้เช่นนั้น (อุบัติเหตุทั้งจากภายใน และภายนอก)
แต่ก็มีอีกทฤษฎีคือ ถึงแม้จะซื้อซามูไรมาหั่นผักก็เถอะ แต่ถ้าเก็บซามูไรนั้นไว้ วันหนึ่งอาจจะมีใครเห็นค่า แล้วมาขอซื้อซามูไรเล่มนั้นในราคาที่สูงยิ่งกว่าก็เป็นได้ (ซึ่งคุณจะไม่เดือดร้อนเลย ถ้าคุณเป็นคนที่มีเงินถุงเงินถัง)
2. มุมของวงการ Retail ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มต่างๆ
ต้องขอฉายภาพกว้างก่อนว่า ประเทศไทยนั้นแบ่ง Retail ใหญ่ๆ ออกเป็น 2 Channel คือ Modern Trade (MT) และ Traditonal Trade (TT)
Modern Trade ในประเทศไทย ถือว่า ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และใช้ Model แบบฝรั่งในการดำเนินธุรกิจ ทำให้สามารถสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ พร้อมขยายส่วนแบ่งไปกินช่องทาง Traditional Trade มากขึ้นเรื่อยๆ
ณ.ปัจจุบัน สัดส่วนภาพรวมคร่าวๆ อยู่ที่ 50:50 โดยในแต่ละกลุ่มสินค้า อาจจะแตกต่างกันไป เช่น กลุ่มสินค้าประเภทเครื่องดื่ม ใน Traditional Trade จะมีสัดส่วนยอดขายที่สูงกว่า Modern Trade แต่หากมองแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย ช่องทาง Modern Trade นั้นมีโอกาสสามารถขยายเพิ่มได้อีก (และจะยิ่งขยายตัวแบบก้าวกระโดด หากเศรษฐกิจไทย กลับมาเติบโตต่อเนื่องแบบอดีต)
การที่ Big C เปลี่ยนมือมาเป็นของ TCC นั้น ส่วนตัวผมมองว่าจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงกับวงการ Retail ในระยะสั้นๆ และระยะกลางครับ ทั้งในแง่ การสามารถเอาชนะ Tesco ผู้ที่อยู่ในอันดับ 1 ในกลุ่ม Hypermarket ด้วยกัน (ซึ่งเป็นความคาดหวังเดิม หลังจากที่ Big C เข้าควบรวมกิจการกับ Carrefour) หรือจะไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างสัดส่วนการขายรวมของทั้งสองช่องทางหลัก MT:TT
กับ 7-Eleven และ makro ซึ่งไม่ใช่คู่แข่งหลัก สถานการณ์ก็ยังคงเหมือนเดิม และกับห้างสรรพสินค้า เช่น Central / The Mall นั่น เดิมก็ไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงกัน ดังนั้นอาจไม่ได้รับผมกระทบมาก
สรุป
สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนและเห็นชัดเจนสุดคือ การที่กำไรตั้งแต่ต้นน้ำ (โรงงาน) จนถึงปลายน้ำ (ห้างค้าปลีก) จะอยู่ทั้งกระเป๋าซ้ายและกระเป๋าขวา นอกจากนั้นยังมีผลพลอยได้ทางอ้อม ด้วยการเอื้อผลประโยชน์กับธุรกิจในเครือ TCC ที่เกี่ยวเนื่องกับ Big C เช่น BJC, Oishi และ F&N ซึ่งปัจจุบันเป็นซัพพลายเออร์ ใช้ช่องทาง Big C ในการจัดจำหน่าย คาดว่าจะได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อเปลี่ยนความสัมพันธ์จากคู่ค้า มาเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน อะไรๆ ก็จะดูคุยง่ายขึ้น ดั่งตัวอย่างที่เราได้เห็นกันแล้วในหลายๆ กลุ่มบริษัท เช่น สินค้าในเครือ CP ที่มีดูเหมือนจะได้รับประโยชน์จากการเป็นบริษัทในเครือเดียวกับ 7-Eleven
สุดท้าย คงต้องแอบกระซิบว่า ความวัวยังไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก กับพนักงานระดับปฏิบัติการ คุณเชื่อหรือไม่ว่าความวุ่นวายครั้ง Big C รวมกับ Carrefour เมื่อปลายปี 2010 นั้น ฝุ่นก็ยังคงตลบไม่หายอยู่จนถึงปัจจุบัน และครั้นพอเปลี่ยนมือเป็น TCC คงจะยังความปวดหัวให้แก่พนักงานระดับปฏิบัติการเพิ่มอีกพอสมควร นี่ไม่รวมถึงสไตล์การบริหารงานที่ต้องปรับจูนกันใหม่ เพื่อให้เข้าผู้บริหาร TCC ซึ่งเดาว่าคงไม่พ้นเงาของลูกหลานในตระกูลสิริวัฒนภักดี
ป.ล. ผมเขียนบทความนี้ลง ฐานเศรษกิจ ตั้งแต่ 11 Feb 2016
ข่าวการเปลี่ยนมือของห้างอื่นๆ Tesco / FamilyMart